วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560

จะเชื่อพระรัตนตรัยหรือจะเชื่อสิ่งที่มองไม่เห็น


     พระรัตนตรัยเป็นทั้งที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย สิ่งอื่นที่จะเป็นที่พึ่งและที่ระลึกยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นขอเรียนเชิญทุกท่านพึงตั้งใจ กล่าวคำสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัยด้วยการสวดมนต์ทำวัตรเช้า – เย็น โดยพร้อมเพรียงกัน
        จากบทเกริ่นนำที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ชาวพุทธทุกคนคงจะพอได้ยินผ่านๆจากเทปสวดมนต์หรือไม่ก็จากพระอาจารย์ที่ท่านนำสวดมนต์กันอยู่ใช่ไหมครับ หรือจากหนังสือสวดมนต์ที่มีประจำบ้านกันอยู่แล้วใช่ไหมครับ
      บทเกริ่นนำนี้ถ้าได้ฟังหรืออ่านบ่อยๆก็จะเฉยๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าลองพิจารณาดูเนื้อหาของบทเกริ่นนำนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราชาวพุทธทุกคนต้องปฏิบัติตามเลยก็ว่าได้ เรามาดูความหมายของบทเกริ่นนำนี้กันว่ามีความหมายที่ลึกซึ้งขนาดไหน


พระรัตนตรัยคือแก้วอันประเสริฐสามประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
      คำว่า  “พระรัตนตรัย คือ รัตนะ มาจากคำว่า “แก้วหรือสิ่งประเสริฐ” ส่วน ตรัย แปลว่า “สาม” เมื่อรวมกันจึงเรียกว่า “แก้วอันประเสริฐสามประการ”  ซึ่งสามอย่างที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือนั้นก็คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ นั่นเอง ดังนั้น

      พระรัตนตรัยเป็นทั้งที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย หมายความว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเราทั้งหลาย ในยามที่มีทุกข์ก็สามารถพึ่งท่านได้ ท่านสามารถช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ได้ เมื่อมีสุขแล้ว ถ้าระลึกถึงรัตนะทั้งสามนี้ ก็เพิ่มเติมความสุขได้ เพราะพระรัตนตรัยเป็นแหล่งรวมแห่งความสุข ความเบิกบานใจ ซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเราทุกๆ คน หากทุกคนในโลกเข้าถึงสรณะอันสูงสุดนี้ได้เมื่อใด ความทุกข์ทั้งหลายจะดับไปเมื่อนั้น จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริง เป็นบรมสุขคือสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย เนื่องจากชีวิตของเราทุกคนที่เกิดมา ล้วนเกิดมาเพื่อแสวงหาความสุขที่แท้จริง
      สิ่งอื่นที่จะเป็นที่พึ่งและที่ระลึกยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว หมายความว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ใจของเราปลอดโปร่ง ว่างเปล่าจากเครื่องกังวล ด้วยการแนะนำไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ทรงสอนว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ และก็ไม่ใช่ของเรา เพราะว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ คิดอย่างนี้แล้วใจจะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ พอคลายแล้วจะได้อะไร เมื่อคลายแล้วมันก็หลุด เมื่อหลุดพ้น จิตก็บริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์จิตก็หยุดนิ่ง ใจหยุดนิ่งทีเดียว หยุดนิ่งกลับไปสู่ที่ตั้งเดิมในปริมณฑลของใจ

       พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา คงที่ เป็นอมตะ การที่เข้าไปถึงทั้งสามสิ่งนี้ ท่านให้เข้าไปด้วย"ทางสายกลางที่มีอยู่ภายในตัว ด้วยวิธีการทำใจให้หยุดให้นิ่ง พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน จะเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงกายที่เป็นสรณะ ท่านเรียกว่าธรรมกาย คือกายนั้นเป็นธรรมล้วนๆ มีความบริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่มีสิ่งที่เป็นมลทินเจือปนเลย เหมือนทองคำที่บริสุทธิ์

      กายที่เป็นสรณะนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เราเข้าไปให้ถึงท่าน ให้ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า “แล่นไป” แล่นไปสู่สรณะทั้งสาม ก็คือ “ไตรสรณคมน์” ไตรแปลว่าสาม  สรณะคือที่พึ่ง ไตรสรณคมน์ ที่พึ่งสามอย่าง “คมนะ” แปลว่า แล่นเข้าไป คือเคลื่อนเข้าไป แล่นไปหาที่พึ่งทั้งสามที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา มีอยู่ในตัวของเรา เป็นตัวตนที่แท้จริง เป็นเกาะ เป็นที่พึ่งที่แท้จริง  

พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ใน อัตตทีปสูตร ว่า

อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา

 จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่


     บุคคลทั้งหลาย ไม่ว่าหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็ปรารถนาที่พึ่ง ต้องการที่ยึดเหนี่ยวพึ่งพาอาศัย เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่างคนก็ต่างแสวงหา เสาะหาว่าอะไรจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของตนได้ ดั่งคนในสมัยโบราณ เมื่อยังไม่ทราบว่าอะไรคือที่พึ่งที่แท้จริง ก็เข้าไปยึดถือเอาต้นไม้บ้าง ภูเขาบ้าง โดยคิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตนได้ แต่สุดท้ายพบว่า สิ่งเหล่านี้ ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกที่จะสามารถคุ้มครองตนเองให้พ้นภัยได้
รูปปั้นท้าวมหาพรหมตั้งอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ถนนราชประสงค์ 
          แม้ในสมัยปัจจุบัน ขณะที่บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงสูง สภาพเศรษฐกิจเป็นเหมือนภาพลวงตา ส่งผลกระทบให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย และดูเหมือนคนส่วนใหญ่กำลังอยู่ในสภาวะที่สับสนมีความไม่แน่นอนในชีวิต ผู้คนทั้งหลายจึงต่างเสาะแสวงหาที่พึ่งให้กับตนเอง ไปพบอะไรก็พึ่งไปหมด ที่ไหนเขาว่ามีอะไรดีก็ตามเขาไป เพราะฉะนั้น มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยย่อมปรารถนาที่พึ่งกันทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าที่พึ่งที่แท้จริงนั้นคืออะไร
       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสสอนพวกเราทั้งหลายว่า "เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลยจงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย"ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ก็เพราะว่าตัวของเรานี่แหละที่จะเป็นที่พึ่งให้กับตัวเองได้ดีที่สุด คือท่านแนะนำให้เอากายนี่ฝึกฝนปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมะภายในให้ได้ จะได้ยึดเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง
      เพราะสิ่งอื่นไม่ใช่ ยังพึ่งได้ไม่สมบูรณ์ให้เอาธรรมะที่เราได้เข้าถึงนี่แหละ เป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นสรณะ อย่าเอาอย่างอื่นเป็นสรณะเนื่องจากชีวิตของเราเป็นทุกข์มีทั้งทุกข์ประจำแล้วก็ทุกข์ที่จรมา เมื่อชีวิตมีทุกข์ก็จำเป็นต้องมีที่พึ่งและที่พึ่งนั้นต้องสามารถพึ่งได้ทุกหนทุกแห่งพึ่งได้ตลอดเวลา ให้ความอบอุ่นความปลอดภัยในชีวิตได้ ทั้งภัยในสังสารวัฏ ภัยในอบายภูมิช่วยได้หมดธรรมะที่เราได้เข้าถึงนั่นแหละจึงจะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง มีพุทธรัตนะธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ๓ อย่างนี้แหละที่จะพึ่งได้ ๓ อย่างนี้อยู่ในตัวของเรามีมาตั้งแต่ดั้งเดิม เมื่อเข้าถึงได้แล้ว เราจะมีดวามสุข มีความบริสุทธิ์ แล้วก็มีความรู้แจ้ง จะรู้เรื่องราวของชีวิตเรา แล้วก็รู้หนทางที่จะไปถึงที่หมายได้โดยปลอดภัย

           ดังนั้น การหยุด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ได้ เราต้องหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่งให้ได้ เอาตัวของเรา เอากายของเรานี่แหละเป็นที่ฝึกฝนอบรมจิต เป็นทางผ่านของใจให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตเรามากเลยทีเดียว

        ผู้รู้ท่านจะสอนตรงกันหมด คือ สอนให้หยุดจากความอยากทั้งปวง หยุดตรงกับคำว่านิโรธะ นิโรธะแปลว่า หยุด  การเอากายหรือเอาตัวของเรานี่แหละเป็นฐานที่ตั้งสำหรับหยุดใจ หยุดจากทุกสิ่ง หยุดแม้กระทั้งความคิด หยุดอยู่ภายใน ให้ใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา กลับมาอยู่ในฐานที่ตั้งดั้งเดิมของใจเพราะตำแหน่งนี้เป็นที่บังเกิดขึ้นของรัตนะทั้ง ๓ ที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขังเป็นอัตตา คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลยแม้แต่นิดเดียว แล้วก็เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา
  สำหรับใครหลายๆคนที่ออกตัวว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนั้นแต่กับยังเอาตัวออกห่างจากพระรัตนตรัย โดยหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หันไปพึ่งสิ่งที่มองไม่เห็น เช่นไปกราบไหว้ศาลเจ้า ไปบูชาผู้ผีปีศาจ เชื่อในโชคลางของขลัง โดยคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นที่พึ่งให้กับตัวท่านเองได้นั้น ถือว่าท่านคิดผิดอย่างมาก แสดงว่าท่านยังไม่ได้เชื่อในพระรัตนตรัยอันเป็นสิ่งที่ใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนนั้นมากพอ หรือท่านยังไม่มีความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนไม่ให้ยึดติดกับสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระรัตนตรัย การที่ท่านไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นที่อยู่นอกตัวของท่านมากกว่าที่จะหันเข้ามาหาตัวเอง(เพราะพระรัตนตรัยอยู่ภายในตัวของเราเอง)นั้น ถือว่าท่านไม่ได้เชื่อมั่นหรือให้ความสำคัญกับพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง



        ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจไปเชื่อสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระรัตนตรัย ช่วยสำรวจใจของท่านเองสักนิดว่า จริงๆแล้วความเป็นชาวพุทธของท่านเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ และท่านให้ความสำคัญกับศูนย์กลางกายของท่านมากน้อยเพียงใด จึงทำให้ท่านเห็นที่พึ่งทางใจอย่างอื่นดีกว่าหรือสำคัญกว่าพระรัตนตรัยภายในตัว ที่ถือว่าเป็นที่พึ่งอันสูงสุดของชาวพุทธทุกคน

ขอบคุณข้อมูลจาก: 
ธรรมะเพื่อประชาชน, กัลยาณมิตร 
http://oldisyounginbkk.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น