This is default featured slide 1 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 2 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 3 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 4 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 5 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ทำไมการทอดกฐินจึงจัดเป็นมหากาลทานที่ยิ่งใหญ่

ทำไมการทอดกฐินจึงจัดเป็นมหากาลทานที่ยิ่งใหญ่
การทอดกฐินเป็นมหากาลทานครั้งยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ ที่ชาวพุทธทั่วโลกให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก เมื่อถึงกำหนดเวลาในการทอดกฐินชาวพุทธไม่ว่าจะอยู่ในแห่งหนตำบลใด หรืออยู่ในประเทศใดเมื่อถึงเวลาทุกคนต่างก็พยายามที่จะหาเวลามาทำบุญที่วัดหรือสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา การทอดกฐินมีสำคัญอย่างไรทำไมถึงชาวพุทธถึงให้ความสำคัญกับการทอดกฐินมากกว่าวันอื่นๆ เรามาดูประวัติความสำคัญของการทอดกฐินกันบ้างครับ
ประวัติความเป็นมาของการทอดกฐิน
สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ จำนวน 30 รูป เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน แต่เมื่อถึงเมืองสาเกตุยังไม่ทันถึงกรุงสาวัตถีก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงต้องเข้าจำพรรษาในระหว่างทาง ในระหว่างนั้น ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐมีใจระลึกถึงพระพุทธองค์ว่า “เราแม้อยู่ห่างจากสาวัตถีเพียงหกโยชน์ แต่พวกเรากลับไม่ได้เข้าเฝ้าพระองค์”
ครั้นล่วงสามเดือนแล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้ทำการปวารณาซึ่งกันและกันในวันมหาปวารณา ในตอนนั้นแม้ออกพรรษาแล้ว แต่ฝนยังตกอยู่ พื้นดินชุ่มไปด้วยน้ำและโคลน ภิกษุเหล่านั้นรีบเร่งเดินทางเพื่อไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้สบงจีวรที่ท่านนุ่งห่มเปียกปอนเปรอะเปื้อนและเปื่อยขาด กว่าจะเดินทางมาถึงวัดพระเชตวันก็ได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก ครั้นถึงวัดพระเชตวันแล้ว ยังมิทันได้พักเลย ภิกษุเหล่านั้นก็รีบเข้าไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งจีวรที่ชุ่มไปด้วยน้ำ เปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน      พระพุทธองค์ทรงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นในเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพร่างกายว่า “จำพรรษากันผาสุกดีอยู่หรือ ทะเลาะวิวาทกันบ้างหรือไม่ อาหารบิณฑบาตพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายได้ทูลตอบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า จำพรรษาด้วยความผาสุก พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ยังมีความพร้อมเพรียงกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกันและไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต" 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นจีวรของภิกษุทั้งหลายเก่าและขาด จึงทรงมีพุทธานุญาตให้รับผ้ากฐินได้ แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว โดยให้ภิกษุที่ได้รับผ้ากฐินแล้วได้อานิสงส์ 5 ประการ คือ
1.เที่ยวไปสู่ที่สงัด เพื่อแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมได้ตามสะดวก โดยไม่ต้องบอกลา
2.เที่ยวไปได้ โดยไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ
3.ฉันคณะโภชนะได้ คือ ฉันภัตตาหารร่วมโต๊ะหรือร่วมวงฉันด้วยกันได้
4.ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา คือ รับผ้าจีวรได้มากผืน
5.จีวรที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ คือ หากได้ผ้าจีวรมาเพิ่มอีก ก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ไม่ต้องเข้าส่วนกลาง
เมื่อพระสัมมาสัมพุุทธเจ้าพระองค์ทรงเห็นถึงความลำบากของพระภิกษุสงฆ์ที่สบงจีวรที่ท่านนุ่งห่มเปียกปอนเปรอะเปื้อนและเปื่อยขาดในระหว่างที่เดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและไม่มีผ้าสงบจีวรผลัดเปลี่ยน ทำไมพระพุทธองค์พุทธานุญาตให้สามารถรับผ้ากฐินจากผู้ที่มีจิตศรัทธานำมาถวายได้และมีกำหนดให้รับได้ภายในหนึ่งเดือนนัจากวันออกพรรษา

"กฐินทาน" คือ การถวายผ้าให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ได้ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งศีล สมาธิ(Meditation) และปัญญาผ่านการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ณ อารามใดอารามหนึ่ง นับว่าเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่ ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายแก่ผู้ทอดถวาย
การทอดกฐิน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ไม่จัดเป็นการทอดกฐิน แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่น จะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้
การทอดกฐินยังเป็นทานพิเศษ คือ ทั้งพระภิกษุและญาติโยมผู้ทอดกฐินได้อานิสงส์ด้วยกัน การทอดกฐินจึงเป็นบุญใหญ่ ที่ผู้ให้ (คฤหัสถ์) และผู้รับ (พระภิกษุสงฆ์) ต่างก็ได้บุญทั้ง 2 ฝ่าย
สาเหตุที่เรียกกันว่าเป็นการทอดกฐินนั้นมาจาก
การน้อมนำผ้าจีวรมาวางทอดลง เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใด เทศกาลทอดกฐินจะเรียกอีกแบบ คือ ฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่ของพระภิกษุ โดยในอดีตกาล ยุคต้นที่พระพุทธศาสนาเริ่มบังเกิดขึ้น ผ้าที่ภิกษุได้มานั้นเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหรือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพในป่าช้า หรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองหยากเยื่อ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผ้าในยุคนั้นเป็นของมีค่าหาได้ยาก การที่ภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้หวงแหน นำมาใช้นุ่งห่ม จึงแสดงถึงความสันโดษมักน้อยของนักบวชผู้มุ่งแสวงหาทางหลุดพ้นและคำว่า "กฐิน"แปลว่า "สะดึง" หมายถึง ไม้ที่ใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง มีทั้งรูปสี่เหลี่ยม และรูปวงกลม เมื่อขึงผ้าด้วยสะดึงแล้วจะทำให้เย็บผ้าได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกความหมายหนึ่งนั้น หมายเอาผ้าจีวรที่ถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่ประจำอารามจนครบพรรษา
 
อานิสงฆ์ของการทอดกฐินที่ผู้ทอดจะได้รับมีมากมายมหาศาลเพราะเป็นบุญที่ทำได้ยากกว่าบุญอื่นๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดไว้หลายประการ ที่ผู้ทำการทอดกฐินจะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ดังนี้
1.) จำกัดด้วยเวลา คือต้องถวายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่ วันออกพรรษา
2.)จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอื่นไม่ได้
3.)จำกัดคราว คือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
4.)จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุรับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้นครบไตรมาส (3 เดือน) และจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป
5.)จำกัดงาน คือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้ว จะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น
6.)จำกัดของถวาย คือ ไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น โดยทั่วไปนิยมใช้สังฆาฏิ ไทยธรรมอื่นจัดเป็นบริวารกฐิน เกิดจากพุทธประสงค์ พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินเพื่อพลัดเปลี่ยนไตรจีวรเก่า แต่ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้อนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาต ถวายผ้าอาบน้ำฝน
เพราะมีขอบเขตที่จำกัดอย่างนี้จึงทำให้การทอดกฐินเป็นมหาทานที่ยิ่งใหญ่ที่ชาวพุทธทุกคนต่างก็พยายามทำบุญนี้กันให้ได้ โดยการไปเสาะแสวงหาวัดต่างๆที่มีพระครบ 5 รูป ขึ้นไป เพื่อจองเป็นเจ้าภาพในการทอดกฐิน ซึ่งทุกวันนี้หาวัดที่จะมีพระครบในการรับกฐินนั้นหาได้ยากมาก เพราะวัดส่วนใหญ่ทุกวันในแต่ละวัด มีพระอย่างมากก็ไม่เกิน 2-3  รูป ทำให้ไม่สามารถรับกฐินนั้นได้ นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมการทอดกฐินจึงจัดเป็นมหากาลทานที่ยิ่งใหญ่กว่าบุญอื่นๆ

ข้อมูลจาก:https://www.youtube.com/watch?v=QRL7R3froS8
https://goo.gl/X7M9WT

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การอธิษฐานจิตดีอย่างไร

การอธิษฐานจิตถือว่าเป็นอธิษฐานบารมีซึ่งเป็นหนึ่งในการบำเพ็ญบารมี10ทัศ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกอรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค๑. พุทธาปทาน หน้าต่างที่ ๓ / ๑๑.
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงบำเพ็ญแม้อธิษฐานบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานที่ได้อธิษฐานไว้. เหมือนอย่างว่า ธรรมดาภูเขาถูกลมพัดในทิศทั้งปวง ไม่หวั่นไหว ไม่เขยื้อน คงตั้งอยู่ในที่ของตนฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่หวั่นไหวในการอธิษฐานคือการตั้งใจมั่นของตน จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานซึ่งอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ กระทำให้มั่นแล้ว.
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
"ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือก เฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ 
ในคราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ นี้ 
กระทำให้มั่นก่อน ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
ภูเขาหินไม่หวั่นไหว คงตั้งอยู่ตามเดิม ไม่สะเทือนเพราะลมแรงกล้า คงตั้งอยู่ในที่ของตนเอง แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานในกาลทั้งปวง ถึงความเป็นอธิษฐานบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้ "
ดังนั้นนอกจากจะทำบุญแล้วการอธิษฐานจิตกำกับได้ด้วยถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายและมโนปณิธานของเราเพื่อไปให้ถึงสิ่งที่เราได้คาดหมายไว้ ดังนั้นการอธิษฐานจิตจึงไม่ใช่เป็นเรื่องงมงายอย่างที่ใครหลายๆคนเข้าใจกัน แต่เป็นการตอกย้ำเป้าหมายของเราในการที่จะทำสิ่งนั้นให้ได้ เพื่อเป็นผังสำเร็จในการดำเนินชีวิตและประกอบหน้าที่การงานของเราสืบไป
ข้อมูลจาก:พระไตรปิฎกอรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค๑. พุทธาปทาน หน้าต่างที่ ๓ / ๑๑.
วิดีโอ:เผือกสีขาว https://www.facebook.com/whitesaranae/videos/310466016094982/

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ความสำคัญของวันมหาปวารณา



     หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กำหนดให้มีวันมหาปวารณาขึ้นแล้ว ทำให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้โอกาสว่า และกล่าวตักเตือนกันได้ในเวลาต่อมา และพระองค์ได้ทรงกำหนดวันมหาปวารณาขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ 
    วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะถือเป็นวันมหาปวารณา โดยพระภิกษุสงฆ์ผู้ได้อธิษฐานจำพรรษาในอารามต่าง ๆ จะพร้อมเพรียงกันกระทำสังฆกรรม ดำเนินตามแบบอย่างแห่งอริยประเพณี อันพระภิกษุผู้อยู่ร่วมกันครบพรรษากาลเหล่านี้ จะได้กล่าวปวารณา หรือเปิดโอกาสให้กันและกัน บอกกล่าว ตักเตือน ในสิ่งที่บกพร่องพึงปรับปรุงแก้ไข พิธีอันสำคัญนี้เป็นพระพุทธานุญาต เพื่อพระภิกษุสงฆ์จะได้เป็นผู้งดงามเรียบร้อยด้วยพระธรรมวินัย เป็นศาสนทายาทผู้เจริญยิ่งด้วยสามัคคีธรรม มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ สมฐานะแห่งทักขิไณยบุคคล

     ปวารณาคืออะไร

     “ปวารณา” โดยรูปศัพท์ แปลว่า ยอมให้ขอ เปิดโอกาสให้ขอหรือยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน

     ส่วนคำว่า “ปวารณา” ที่มุ่งหมายในที่นี้ หมายถึง การที่ภิกษุเปิดโอกาสให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ซึ่งจัดเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องทำร่วมกันในวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (สำหรับผู้เข้าจำพรรษาในพรรษาหลัง)

       วิธีปวารณา

     ผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุ ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไปทำปวารณาร่วมกัน โดยเมื่อถึงวันมหาปวารณา ให้ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน แสดงอาบัติต่อกันแล้ว ให้ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศตั้งญัตติ(การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน)ให้สงฆ์ทำปวารณาโดยเริ่มต้นจากภิกษุผู้มีพรรษามากไปจนถึงภิกษุผู้มีพรรษาน้อยที่สุดตามลำดับ

    ภิกษุผู้เถระมีพรรษามากกว่าทั้งหมดนั่งกระหย่ง1ประนมมือกล่าวปวารณาก่อน ๓ ครั้ง(โดยให้ภิกษุที่มีพรรษาอ่อนกว่าปวารณาทีหลัง) ว่า

    “ท่านทั้งหลาย (“ท่านผู้เจริญ” ใช้สำหรับภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่ากล่าวกับพระภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า) กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัย (ว่ากระผมทำผิด) ก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมเมื่อกระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป
   ในระหว่างการปวารณา ทุกรูปต้องนั่งกระหย่ง รูปไหนปวารณาเสร็จแล้วจึงจะนั่งบนอาสนะได้

      วันทำปวารณา

     ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า วันปวารณามีกี่วัน จึงนำเรื่องไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลายวันปวารณานี้มี ๒ วัน คือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ

        อาการในการทำปวารณา


     ต่อมา ภิกษุทั้งหลายเกิดสงสัยอีกว่า อาการทำปวารณามีเท่าไร จึงนำเรื่องไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งว่า การทำปวารณามี ๔ อย่าง คือ แยกพวกกันทำปวารณาโดยไม่ชอบธรรม พร้อมเพรียงกันทำปวารณาโดยไม่ชอบธรรม แยกพวกกันทำปวารณาโดยชอบธรรม และพร้อมเพรียงกันทำปวารณาโดยชอบธรรม ซึ่งพระองค์ทรงอนุญาตให้ทำปวารณาเฉพาะที่พร้อมเพรียงกันทำโดยชอบธรรมเท่านั้น

      พุทธานุญาตอื่นๆ

      ภายหลังมีภิกษุบางรูปไม่สบาย ไม่สามารถมาร่วมทำปวารณาได้ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่สบายนั้นใช้ให้ภิกษุอื่นทำปวารณาแทนตนได้
       ต่อมาภิกษุเกิดสงสัยอีกว่า หากมีภิกษุไม่ถึง ๕ รูป ควรทำปวารณากันอย่างไร พระพุทธองค์จึงมีพระบรมพุทธานุญาต ให้อาวาสที่มีภิกษุอยู่เพียง ๔ รูป ๓ รูป หรือ ๒ รูป ทำปวารณากันเองเป็นคณะ และหากมีเพียงรูปเดียว ให้อธิษฐานเป็นส่วนบุคคล คือ ตั้งใจว่า วันนี้เป็นวันมหาปวารณาของเราและหากมีเหตุจำเป็นบางประการ ที่จะทำปวารณา ๓ ครั้งไม่ได้เช่น เมื่อมีเหตุอันตรายหรือความไม่สะดวกอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐อย่างเกิดขึ้นคือ
๑.พระราชาเสด็จมา
๒.โจรมาปล้น
๓.ไฟไหม้
๔.น้ำหลากมา
๕.คนมามาก
๖.ผีเข้าสิงภิกษุ
๗.สัตว์ร้ายเข้ามา
๘.งูร้ายเลื้อยเข้ามา
๙.ภิกษุจะถึงแก่ชีวิต
๑๐.มีอันตรายต่อพรหมจรรย์                                                                                                                 
       เมื่อประสบเหตุประการใดประการหนึ่งดังกล่าวทรงผ่อนผันให้ปวารณาเพียง ๒ ครั้ง ครั้งเดียว หรือให้ภิกษุที่มีพรรษาเท่ากันปวารณาพร้อมกันได้ นอกจากนี้ หากภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุก แต่เกรงว่าเมื่อเสร็จจากปวารณาแล้ว อาจมีภิกษุบางรูปต้องเดินทางจากไป จนเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความผาสุกในธรรมเหมือนเช่นเคย เพื่ออนุเคราะห์แก่ภิกษุเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้เลื่อนวันปวารณาออกไปได้อีก ๑ เดือน

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการปวารณา

     แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเอง ยังทรงให้ความสำคัญกับการปวารณาเป็นอย่างมาก ดังเช่นในสมัยที่พระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางพระอรหันตสาวกหมู่ใหญ่๕๐รูป พระวิหารบุพพาราม               
      วันนั้น เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงรับสั่งกับภิกษุทั่งหลายว่า “บัดนี้เราขอปวารณาต่อเธอทั้งหลาย พวกเธอจะไม่ติเตือน กรรมอะไรๆ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ”                                                         
         เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายติเตียนกรรมใดๆ อันเป็นไปทางพระกายหรือทางพระวาจาของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้เลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่าพระองค์ทรงยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงยังทางที่ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ให้เกิดขึ้นพร้อม ทรงบอกทางที่ยังไม่มีผู้บอก เป็นผู้ทรงรู้ทาง ทรงรู้แจ้งทาง ทรงฉลาดในทาง
     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญสาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง
     ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตร พร้อมทั้งภิกษุทั้ง ๕๐ รูป จึงได้ปวารณาต่อพระผู้มีพระภาคเช่นเดียวกัน ซึ่งพระองค์ก็ไม่ทรงเห็นการกระทำใดๆ ทั้งทางกายวาจาของพระอรหันต์เหล่านั้น ที่จะทรงติเตียนได้เช่นกันสาวก สันนิบาต สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์อื่นๆ ก็ยังทรงอาศัยโอกาสแห่งวันปวารณานี้ เพื่อประชุมพระสาวก (สาวกสันนิบาต) อีกด้วย ดังเช่น พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปวารณาพรรษาพร้อมด้วยภิกษุ ๙๐,๐๐๐โกฎิ ณ ภูเขาสุทัสสนะ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๓    
     พระสุมนพุทธเจ้าก็ทรงปวารณาพรรษาพร้อมด้วยภิกษุอรหันต์ขีณาสพ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ในการประชุมพระสาวกครั้งที่ ๑                                                                                                                                
     พระโสภิตะพุทธเจ้า ก็ทรงปวารณาพรรษา พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๘๐ โกฏิ ในการประชุมพระสาวกครั้งที่๓
     พระปทุมพุทธเจ้าทรงปวารณาเป็นวิสุทธิปวารณากับผู้บวชใหม่และภิกษุอื่นๆ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ โกฏิ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๒ และทรงปวารณาออกพรรษา พร้อมกับภิกษุผู้บวชด้วยเอหิภิกขุ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ โกฏิ ในการประชุมสาวกครั้งที่๓
    พระธัมมทัสสีพุทธเจ้าทรงทำวิสุทธิปวารณาท่ามกลางภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ซึ่งบวชภายในพรรษานั้น ณ กรุงสรณะ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๑

      ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย


    ในทางปฏิบัติแม้ภิกษุบางรูปจะได้ปวารณาให้สหธรรมิกว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้แล้วก็ตาม แต่หากภิกษุนั้นเป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทนต่อคำพร่ำสอน ก็คงไม่มีใครกล้าแนะนำ หรือตักเตือนอยู่นั่นเอง ทำให้ภิกษุนั้นเสียโอกาสที่จะได้แก้ไขพัฒนาตนเอง ให้ก้าวหน้าในพระธรรมวินัยไปอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง     
    ในทางกลับกัน หากภิกษุใดเป็นผู้ว่าง่าย อดทนต่อคำสั่งสอน แม้จะไม่ได้ปวารณาไว้ แต่เพราะความว่าง่าย ย่อมทำให้ เพื่อนภิกษุทั้งหลายอยากแนะนำพร่ำสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์     ดังนั้น ภิกษุผู้หวังความเจริญในพระพุทธศาสนานี้ จึงควรประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่ายเหล่านี้ คือ      
1.ไม่มีความปรารถนาลามก ไม่ลุแก่อำนาจแห่งความปรารถนาลามก
2.ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
3.ไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ถูกครอบงำด้วยความโกรธ
4.ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ
5.ไม่มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ
6.ไม่เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ
7.เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็ไม่ได้เถียงโจทก์
8.เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็รุกรานโจทก์
9.เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็ไม่ปรักปรำโจทก์
10.เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็ไม่เอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ
11.เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็พอใจตอบในความประพฤติของตน
12.ไม่เป็นคนลบหลู่ ไม่ตีเสมอ
13.ไม่เป็นคนริษยา ไม่เป็นคนตระหนี่
14.ไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่เจ้ามายา
15.ไม่เป็นคนกระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น
16.ไม่เป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น เมื่อรู้ว่าตนกระทำผิดก็ยอมรับได้ง่าย


      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับ “การปวารณา”เป็นอย่างมาก เนื่องจากทรงเห็นว่า “การปวารณา”จะเป็นประโยนช์ และเป็นโอกาสแก่ภิกษุที่อยู่จำพรรษาร่วมกัน จะได้ชี้ขุมทรัพย์ คือ การว่ากล่าวแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยนช์ต่อการพัฒนาคุณธรรมความดีงามให้แก่กัน ที้งนี้เพื่อความสะอาดหมดจดแห่งพรหมจรรย์ และเพื่อความสำรวมระวังทั้งกาย วาจา ใจ สืบไป
      ขุมทรัพย์จากการปวารณา จึงเป็นเหตุเกื้อกูลให้พระภิกษุสามารถฝึกฝนอบรมตนเองให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างรวดเร็ว สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา

ขอบคุณข้อมูลจาก : DMC.TV , https://goo.gl/S99syz

วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กำเนิดวันมหาปวารณา



กำเนิดวันมหาปวารณา
         วันมหาปวารณาถือเป็นวันสำคัญวันของพระภิกษุสงฆ์วันหนึ่งก็ว่าได้ เพราะเป็นวันที่พระภิกษุจะได้มีโอกาสว่ากล่าวตัดเตือนกันได้ถือเป็นมิตรชี้ประโยนช์ให้แก่และกัน
 จุดเริ่มต้นของวันมหาปวารณาเกิดเนื่องด้วยสาเหตุใดนั้นผู้เขียนได้ไปค้นข้อมูลมาให้ทุกท่านได้ทราบกันดังนี้
  ครั้งหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี มีภิกษุหลายรูปซึ่งรู้จักและคุ้นเคยกันมาก่อน ได้มาอยู่จำพรรษาร่วมกันในอาวาสแห่งหนึ่งในโกศลชนบท ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันว่า ด้วยวิธีการอย่างไรหนอ พวกเราจึงจะอยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุก มีความสามัคคีปรองดอง  ไม่ทะเลาะวิวาทกันและไม่ต้องลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาต

        ครั้นแล้วได้ปรึกษากันต่อไปว่า หากพวกเราจะไม่ทักทายปราศรัย พูดคุยซึ่งกันและกัน รูปใดบิณฑบาตกลับมาถึงก่อน ให้รูปนั้นปูอาสนะ จัดหาน้ำล้างเท้า ตั่งวางรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ ล้างภาชนะสำหรับถ่ายบิณฑบาตเตรียมตั้งไว้ จัดตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ส่วนรูปใดบิณฑบาตกลับมาทีหลัง หากอาหารที่รูปก่อนฉันแล้ว ยังมีเหลือ ถ้าต้องการฉันก็พึงฉัน ถ้าไม่ต้องการก็ให้เททิ้งหรือล้างเสียให้เรียบร้อย แล้วจึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งวางรองเท้ากระเบื้องเช็ดเท้า ล้างภาชนะสำหรับถ่ายบิณฑบาตเก็บไว้ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ กวาดหอฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หม้อน้ำชำระว่างเปล่า ก็ให้จัดหาไว้ หากเกินกำลังที่จะทำได้เพียงลำพัง ให้กวักมือเรียกเพื่อนมาช่วยเหลือกัน แต่อย่าเปล่งเสียงเรียกให้เพื่อนมาช่วยเลย ด้วยวิธีการอย่างนี้แหละ พวกเราจึงจะอยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุก มีความสามัคคีปรองดอง ไม่ทะเลาะวิวาทกัน และไม่ต้องลำบากเรื่องภัตตาหาร ครั้นแล้วภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงได้อยู่จำพรรษาร่วมกันตามวิธีนี้จนตลอด ๓ เดือน


ภายหลังออกพรรษาแล้ว เป็นธรรมเนียมว่า ภิกษุจะต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาครบไตรมาสแล้ว จึงเดินทางไปสู่พระเชตวันเพื่อเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อถวายบังคม และได้นั่งในที่อันสมควรแก่ตนแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า อยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุกหรือไม่ ภิกษุเหล่านั้น แม้จำพรรษาร่วมกันอย่างไม่มีความสุขก็ยังกราบทูลว่า พวกตนอยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุก
      พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามถึงวิธีการที่ใช้ในการอยู่ร่วมกันนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ ทรงติเตือน และห้ามประพฤติตามอย่างเดียรถีย์ ครั้นทรงทราบแล้วจึงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
     ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าโมฆบุรุษ พวกนี้แม้อยู่จำพรรษาอย่างไม่มีความผาสุกเลย ก็ยังยืนยันว่าอยู่กันด้วยความผาสุก ทราบว่าโมฆบุรุษพวกนี้อยู่จำพรรษากันอย่างกับพวกสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกัน (อยู่โดยไม่มีการถามสุขทุกข์ของกันและกัน) อย่างแพะอยู่ร่วมกัน อย่างคนประมาทอยู่ร่วมกันแท้ ๆ ยังยืนยันอีกว่า อยู่จำพรรษาด้วยความผาสุก
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุไฉนโมฆบุรุษพวกนี้จึงได้ถือมูควัตร (ข้อปฏิบัติอย่างคนใบ้) ซึ่งพวกเดียรถีย์ถือกัน การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้น ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสฯ
     ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมิกถา รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
      “ภิกษุไม่พึงสมาทานมูควัตรที่พวกเดียรถีย์สมาทานกัน รูปใดสมาทาน ต้องอาบัติทุกกฎ”

ทรงอนุญาตการปวารณา
      ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณาต่อกันด้วยเหตุ ๓ สถาน คือ ด้วยได้เห็น ด้วยได้ฟัง หรือด้วยนึกสงสัย (ว่าได้ทำความผิดทางกาย ทางวาจา) อันเป็นวิธีที่เหมาะสมเพื่อการว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ทั้งเป็นวิธีออกจากอาบัติ และเป็นวิธีเคารพในพระวินัยของภิกษุทั้งหลายสืบ  
                                                               
ขอบคุณข้อมูลจาก:ภาพและข้อมูลจาก DMC  
https://goo.gl/nEHtyj

https://mamoketio.blogspot.com/2017/10/dmc-httpsgoo.html