วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

สามัคคีคืออะไร

สามัคคีคืออะไร

       เมื่อพูดถึงเรื่องความสามัคคีหลายคนคงจะมีคำตอบเหมือนกันบ้างต่างกันบ้างแต่ก็คงไม่พ้นคอนเซ็ปเดียวกันนั้นก็คือ
สามัคคี คือ ความพร้อมเพรียงกัน ความกลมเกลียวกัน ความปรองดองกัน ร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามที่ต้องการ เกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากการทะเลาะวิวาท ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นการยอมรับความมีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ ความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้ เรียกอีกอย่างว่า ความสมานฉันท์ ผู้ที่มีความสามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตน ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง แก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ

สามัคคี คือ พลังคือแรงขับเคลื่อนให้เราก้าวเดินต่อไปข้างหน้า แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใดถ้าเรามีความเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วแม้อุปสรรคเหล่านั้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราผ่านพ้นอุปสรรคนั้นๆไปได้เช่นเดียวกัน
ในชีวิตดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนร่วมห้อง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งผู้นำระดับประเทศ ต่างก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นด้วยกันทั้งสิ้น จะบอกว่าเราอยู่คนเดียวได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนนั้นเป็นอะไรที่ไม่สามารถทำได้ เพราะในชีวิตประจำวันของเราจะต้องมีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั้งเข้านอน
พระพุทธศาสนาได้สอนหลักธรรมเรื่องการอยู่ร่วมกันไว้ ถ้าทุกคนในสังคมได้นำเอาหลักธรรมนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เชื่อได้ว่าสังคมนั้นๆจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
หลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการอยู่ร่วมกันนั้นเราเรียกว่าหลัก “สาราณียธรรม” เป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีปรองดอง การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ รวมเรียกว่า “ สาราณียธรรม6 ” 

          สาราณียธรรม6 ” หมายถึง ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน 6 ประการ เป็นคุณธรรมที่ทำให้คนเราไม่เห็นแก่ตัว แต่จะคิดถึงคนอื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ระลึกถึงกัน ผูกพันเชื่อมโยงบุคคลไว้ด้วยน้ำใจ
    สาราณียกรรมจะขอแยกออกเป็นสองประเภทคือ สาราณียกรรมสำหรับฆราวาสและสาราณียกรรมสำหรับพระภิกษุ-สามเณร ดังนี้

         สาราณียธรรม 6 สำหรับฆราวาส

       1. เมตตากายกรรม คือ ทำต่อกันด้วยเมตตา หมายถึง ทำสิ่งใดก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเช่น แสดงไมตรีจิต และหวังดีต่อมิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน บุคคลรอบข้าง โดยช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ด้วยความเต็มอกเต็มใจ พร้อมกับประพฤติตนอย่างสุภาพ สม่ำเสมอ ให้ความเคารพ และจริงใจต่อผู้อื่นแม้ในยามหน้า และลับหลัง
     2. เมตตาวจีกรรม คือ พูดกันด้วยเมตตา หมายถึง จะพูดอะไรก็พูดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน เช่น การให้ความรู้ หรือคำแนะนำที่ดีต่อผู้อื่น กล่าววาจาสุภาพ พูดจริง ไม่พูดเพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองฝ่ายเดียว
      3. เมตตามโนกรรม คือ คิดต่อกันด้วยเมตตา หมายถึง จะคิดสิ่งใดก็ให้คิดในสิ่งที่ดี และคิดด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เช่น ตั้งจิตปรารถนาที่จะทำคุณงามความดี คิดมั่นในการสร้างบุญกุศล และมีจิตเมตตาช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความหวังดี
      4. สาธารณโภคี คือ แบ่งปันสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม หมายถึง แบ่งปันลาภผลที่ร่วมกัน หาร่วมกันทำโดยยุติธรรมแม้สิ่งของที่ได้มาจะน้อย แต่ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วถึงกันนั้น คือ การร่วมสุข ร่วมทุกข์กัน
      5. สีลสามัญญตา คือ มีความประพฤติเสมอภาคกัน หมายถึง ประพฤติสุจริตในสิ่งที่ดีงามอย่างสม่ำเสมอ ประพฤติตนอย่างมีระเบียบวินัยเหมือนผู้อื่น ไม่ประพฤติตนในทางแตกแยกจนเป็นที่ขัดข้องหมองใจต่อผู้อื่นหรือเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ
      6. ทิฏฐิสามัญญตา คือ มีความเสมอภาคกันทางความคิด และเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น หมายถึง ปรับความคิดความเห็นให้มีเหตุมีผลถูกต้องเหมือนกับผู้อื่น และหมู่คณะภายใต้เหตุ และผลในทางที่ดีงาม พร้อมกับเคารพเหตุผล ยึดหลักความดีงามเป็นอุดมคติอย่างสม่ำเสมอ

      สาราณียธรรม 6 สำหรับภิกษุ สามเณร

      1. เมตตากายกรรม คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงกระทำสิ่งใดก็ต้องให้ยึดมั่นด้วยความเมตตา ได้แก่ การแสดงความมีน้ำใจช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่างๆ ที่ควรของเพื่อนภิกษุสามเณร ของเพื่อนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม
       2. เมตตาวจีกรรม คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงกล่าววาจาที่ประกอบขึ้นด้วยเมตตา ได้แก่ การพูดวาจาที่เป็นคำสัตย์ คำจริง คำสมานสามัคคีด้วยคำไพเราะ น่าฟัง และคำที่มีประโยชน์ภายใต้พื้นฐานที่มาจากความเมตตา และจิตอันบริสุทธิ์ต่อคนที่ตนพูดด้วย และคนที่พูดถึง พูดต่อหน้าอย่างไร ลับหลังก็ต้องพูดอย่างนั้น ลับหลังพูดอย่างไร ต่อหน้าก็ควรพูดอย่างนั้น
       3. เมตตามโนกรรม คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลายพึงระลึกในจิตที่มีเมตตา ได้แก่ การตั้งความรู้สึกในคนและสัตว์ทั้งหลายว่า ชีวิตแต่ละชีวิตไม่ต้องการความทุกข์ แต่ต้องการความสุขฉันใด เพราะฉะนั้นขอให้บุคคลนั้นๆ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ประทุษร้ายกัน ให้แต่ละคนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่ฐานะของตน เมื่อจะคิดถึงใครก็ตามไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่า เป็นภิกษุสามเณรเท่านั้น ให้คิดถึงกันด้วยเมตตา และพร้อมที่จะแสดงออกทางกาย ทางวาจา ทั้งต่อหน้า และลับหลังบุคคลเหล่านั้น
       4. สาธารณโภคี คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงแบ่งปันภัตตาหารหรือสิ่งของของตนให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกัน พึงละเว้นจากความเห็นแก่ตัวไม่แบ่งปันผู้อื่น คือ หลักการอยู่ร่วมกันของพระภิกษุสามเณรนั้น ต้องรู้จักเที่ยวบิณฑบาตอาหารจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา เป็นการได้อาหารมาในทางที่ชอบธรรม แต่ว่าการได้ปัจจัย 4 นั้น คนเรามีวาสนาบารมีไม่เหมือนกัน บางคนได้มากจนเหลือกินเหลือใช้ บางคนได้น้อยจนไม่ค่อยพอกินพอใช้ เพราะฉะนั้นคนที่ได้ลาภผลมาในทางที่ชอบมาก จึงต้องแสดงออกซึ่งทางกายกรรมทางวจีกรรม ที่สะท้อนมาจากใจ ด้วยการเอื้อเฟื้อแบ่งปันเป็นการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ เฉลี่ยความสุขให้แก่กัน และกัน
        5. สีลสามัญญตา คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์เสมอกัน เนื่องด้วยการอยู่ร่วมกันของพระภิกษุ สามเณรนั้น ก็เป็นสังคมหนึ่งที่คล้ายกับฆราวาส มีผู้มากบ้าง และมีผู้รู้น้อยบ้าง แต่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการประพฤติปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้ที่เกี่ยวข้องกันแม้จะเป็นเพื่อนรักร่วมใจกัน ถ้าคนหนึ่งละเมิดศีลที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้จะกลายเป็นที่รังเกียจ ดูหมิ่นของเพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกัน การอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขที่ประสงค์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องพยายามปฏิบัติตนให้ถูกต้องตรงตามหลักของศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้โดยให้มองว่า ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้อย่างไร ใครปฏิบัติถูกต้องตรงหลักที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ก็ปฏิบัติไปตามเขา ทำให้เกิดเป็นความเรียบร้อยสวยงามขึ้นที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า สังฆโสภโณ คือ หมู่คณะที่งดงาม
        6. ทิฏฐิสามัญญตา คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงมีความเห็นร่วมกัน และเคารพความเห็นของผู้อื่นเสมอ ไม่พึงวิวาทกันเอง เพราะเพียงความเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยในฐานะของภิกษุในพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นความเห็นเกี่ยวกับวินัย ก็ต้องเอาวินัยเป็นมาตรการกำหนดตัดสินว่า ความเห็นของใครถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะก็ตรวจสอบเทียบเคียง สอบทานหลักธรรมะว่า ข้อนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างไร แล้วก็หาจุดกลางทางความคิดมาพบกัน แต่บางอย่างเป็นเรื่องของกิจการงาน หรือแม้แต่เรื่องความเห็นทั่วไป อาจจะมีความขัดแย้งในหลักการ และวิธีการบางอย่าง แต่ว่าสามารถประสบผลเช่นเดียวกันได้ ก็ต้องรู้จักผ่อนปรนไม่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท เพราะเหตุว่าความเห็นขัดแย้งกัน เว้นไว้แต่บุคคลนั้นมีความเห็นขัดแย้งกับธรรมวินัย ซึ่งภิกษุสามเณรรู้ห่วงใยในพระพุทธศาสนา จะต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะขจัดปรับการวิวาทเหล่านั้นให้ยุติลงด้วยความเรียบร้อย
      ในทางปฏิบัติ “สาราณียธรรม” จะเริ่มต้นจาก การปรับความคิดเห็นให้มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นเพื่อนที่ต่างก็เข้ามาทำงานกันด้วยใจมีจิตอาสา อยากเห็นสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขจึงได้เข้ามาอยู่ตรงจุดๆนี้ ดังนั้นพวกเราแม้จะไม่ใช่ญาติพี่น้องกันในทางโลกแต่พวกเราต่างก็เป็นญาติกันคือญาติทางธรรมเช่นเดียวกัน เมื่อปรับความคิดเห็นให้ตรงกันได้แล้ว เราก็จะเกิดความรักความสามัคคี คิด พูด ทำต่อกันด้วยเมตตา เกื้อกูลแบ่งปันกันและกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยหลักความรู้ควบคู่หลักคุณธรรม อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คณะใดคณะหนึ่ง โดยที่ยังมีการเคารพในความแตกต่างของกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็จะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข เกิดความรักใคร่กลมเกลียวกันและกันและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆเข้ามามากน้อยเพียงใดเราก็สามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นได้อย่างเช่น https://www.youtube.com/watch?v=owToxgr5wRA

ความสามัคคีนั้นเราควรที่จะเริ่มต้นปลุกฝั่งคนให้รู้จักคำว่าความสามัคคีกันตั้งแต่เมื่อไหร่จึงจะทำให้คนเหล่านั้นได้เข้าใจความหมายของคำว่าความสามัคคีได้อย่างลึกซึ้ง และใครมีส่วนสำคัญในการปลุกฝั่งบุคคลเหล่านี้ได้รู้จักความสามัคคี และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นหรือหมู่คณะได้อย่างสงบสุข ถ้าเมื่อไหร่มีการแตกความสามัคคีกันแล้วจะเป็นอย่างไร เอาไว้ครั้งหน้าก็แล้วกันนะครับ สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้วครับ ผู้เขียนหวังว่าเรื่องราวดังกล่าวคงจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ

      ขอบคุณข้อมูลจาก : https://goo.gl/ZXYdr9 , https://goo.gl/xTWz7v


7 ความคิดเห็น:

  1. ที่ใดขาดซึ่งความสามัคคีที่นั่นย่อมถึงจุดอวสาน ครอบครัว บริษัท ชุมชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆประเทศชาติจะอยู่ได้ถ้าทุกคนมีความสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่อิจฉาริษยากัน ไม่มีความขัดแย้งกัน ว่าอย่างไรว่าตามกัน เห็นต่างได้แต่ต้องเคารพในความเห็นต่างของกันและกัน และให้ความเคารพในการตัดสินใจของหัวหน้าหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้หน้าที่นั้นๆ เชื่อใจกันทุกอย่างแม้จะมีปัญหาและอุปสรรคก็ย่อมผ่านพ้นกันไปได้ ถ้าที่ไหนมีความสามัคคีกันที่นั่นไม่มีทางที่จะล้มสลายได้แน่นอน

    ตอบลบ
  2. มีบุคคลกำลังพยายามทำให้หมู่คณะเกิดระแวงระวังเพื่อให้แตกความสามัคคี ต้องระมัดระวังกันนะครับ

    ตอบลบ
  3. ขอลูกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆท่านทุกๆคน จงมีความสามัคคีปรองดองเเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป สาธุ

    ตอบลบ
  4. สามัคคีธรรม หมายถึง ร่วมใจกัน สมัครสมานกันโดยธรรมโดยวินัย จึงมุ่งหมายไปในทางดี จึงสำเร็จ และดี มีประโยชน์
    ... ไม่ได้มุ่งหมายไปในทางไปก่อการไม่ดี...

    เหตุให้เกิดความแตกสามัคคีกันเพราะ....
    ๑. ไม่เคารพ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
    ๒. ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
    ๓. ยึดมั่นในความเห็นของตน มองมิติเดียวว่า "ของตนเท่านั้นจริง ของผู้อื่นเท็จหมด"
    ๔. การถือทิฏฐิมานะ ยึดมั่นไม่ยอมคลาย

    การแก้ไข คือ...
    ๑. ประพฤติในสาราณียธรรมตามที่กล่าวไว้
    ๒. เจริญภาวนา โดยเฉพาะเมตตาภาวนา เพราะหากมีความรักความปรารถนากันอย่างจริงใจ การจ้องจับผิด จองล้างจองผลาญกันก็จะไม่มี จะมองผู้อื่นเหมือนกับมารดามองบุตรสุดที่รัก ย่อมให้อภัยกันได้เสมอ....และเพราะเมื่อภาวนาจนจิตสงบ วิตกวิจารก็สงบ วิตกวิจารอันเป็นเครื่องปรุงแต่งวาจาสงบแล้ว ก็เป็นเหตุให้วาจาสงบ กายก็จะสงบ...ตนเองก็ไม่เดือดร้อน..ความเดือดร้อนแตกแยกกันเพราะวาจาก็ย่อมสงบระงับไปด้วย

    อนุโมทนาสาธุ กับผู้ให้ธรรมทาน สาธุๆๆ

    ตอบลบ
  5. กราบอนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุครับ

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆที่ให้แง่คิดเตือนสติคนในสังคมได้อย่างเยี่ยมยอดครับ!

    ตอบลบ
  7. สามัคคีก่อให้เกิดพลังและความสุขของหมู่คณะครับ

    ตอบลบ