วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ทำไมการทอดกฐินจึงจัดเป็นมหากาลทานที่ยิ่งใหญ่

ทำไมการทอดกฐินจึงจัดเป็นมหากาลทานที่ยิ่งใหญ่
การทอดกฐินเป็นมหากาลทานครั้งยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ ที่ชาวพุทธทั่วโลกให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก เมื่อถึงกำหนดเวลาในการทอดกฐินชาวพุทธไม่ว่าจะอยู่ในแห่งหนตำบลใด หรืออยู่ในประเทศใดเมื่อถึงเวลาทุกคนต่างก็พยายามที่จะหาเวลามาทำบุญที่วัดหรือสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา การทอดกฐินมีสำคัญอย่างไรทำไมถึงชาวพุทธถึงให้ความสำคัญกับการทอดกฐินมากกว่าวันอื่นๆ เรามาดูประวัติความสำคัญของการทอดกฐินกันบ้างครับ
ประวัติความเป็นมาของการทอดกฐิน
สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ จำนวน 30 รูป เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน แต่เมื่อถึงเมืองสาเกตุยังไม่ทันถึงกรุงสาวัตถีก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงต้องเข้าจำพรรษาในระหว่างทาง ในระหว่างนั้น ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐมีใจระลึกถึงพระพุทธองค์ว่า “เราแม้อยู่ห่างจากสาวัตถีเพียงหกโยชน์ แต่พวกเรากลับไม่ได้เข้าเฝ้าพระองค์”
ครั้นล่วงสามเดือนแล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้ทำการปวารณาซึ่งกันและกันในวันมหาปวารณา ในตอนนั้นแม้ออกพรรษาแล้ว แต่ฝนยังตกอยู่ พื้นดินชุ่มไปด้วยน้ำและโคลน ภิกษุเหล่านั้นรีบเร่งเดินทางเพื่อไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้สบงจีวรที่ท่านนุ่งห่มเปียกปอนเปรอะเปื้อนและเปื่อยขาด กว่าจะเดินทางมาถึงวัดพระเชตวันก็ได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก ครั้นถึงวัดพระเชตวันแล้ว ยังมิทันได้พักเลย ภิกษุเหล่านั้นก็รีบเข้าไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งจีวรที่ชุ่มไปด้วยน้ำ เปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน      พระพุทธองค์ทรงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นในเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพร่างกายว่า “จำพรรษากันผาสุกดีอยู่หรือ ทะเลาะวิวาทกันบ้างหรือไม่ อาหารบิณฑบาตพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายได้ทูลตอบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า จำพรรษาด้วยความผาสุก พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ยังมีความพร้อมเพรียงกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกันและไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต" 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นจีวรของภิกษุทั้งหลายเก่าและขาด จึงทรงมีพุทธานุญาตให้รับผ้ากฐินได้ แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว โดยให้ภิกษุที่ได้รับผ้ากฐินแล้วได้อานิสงส์ 5 ประการ คือ
1.เที่ยวไปสู่ที่สงัด เพื่อแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมได้ตามสะดวก โดยไม่ต้องบอกลา
2.เที่ยวไปได้ โดยไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ
3.ฉันคณะโภชนะได้ คือ ฉันภัตตาหารร่วมโต๊ะหรือร่วมวงฉันด้วยกันได้
4.ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา คือ รับผ้าจีวรได้มากผืน
5.จีวรที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ คือ หากได้ผ้าจีวรมาเพิ่มอีก ก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ไม่ต้องเข้าส่วนกลาง
เมื่อพระสัมมาสัมพุุทธเจ้าพระองค์ทรงเห็นถึงความลำบากของพระภิกษุสงฆ์ที่สบงจีวรที่ท่านนุ่งห่มเปียกปอนเปรอะเปื้อนและเปื่อยขาดในระหว่างที่เดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและไม่มีผ้าสงบจีวรผลัดเปลี่ยน ทำไมพระพุทธองค์พุทธานุญาตให้สามารถรับผ้ากฐินจากผู้ที่มีจิตศรัทธานำมาถวายได้และมีกำหนดให้รับได้ภายในหนึ่งเดือนนัจากวันออกพรรษา

"กฐินทาน" คือ การถวายผ้าให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ได้ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งศีล สมาธิ(Meditation) และปัญญาผ่านการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ณ อารามใดอารามหนึ่ง นับว่าเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่ ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายแก่ผู้ทอดถวาย
การทอดกฐิน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ไม่จัดเป็นการทอดกฐิน แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่น จะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้
การทอดกฐินยังเป็นทานพิเศษ คือ ทั้งพระภิกษุและญาติโยมผู้ทอดกฐินได้อานิสงส์ด้วยกัน การทอดกฐินจึงเป็นบุญใหญ่ ที่ผู้ให้ (คฤหัสถ์) และผู้รับ (พระภิกษุสงฆ์) ต่างก็ได้บุญทั้ง 2 ฝ่าย
สาเหตุที่เรียกกันว่าเป็นการทอดกฐินนั้นมาจาก
การน้อมนำผ้าจีวรมาวางทอดลง เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใด เทศกาลทอดกฐินจะเรียกอีกแบบ คือ ฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่ของพระภิกษุ โดยในอดีตกาล ยุคต้นที่พระพุทธศาสนาเริ่มบังเกิดขึ้น ผ้าที่ภิกษุได้มานั้นเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหรือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพในป่าช้า หรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองหยากเยื่อ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผ้าในยุคนั้นเป็นของมีค่าหาได้ยาก การที่ภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้หวงแหน นำมาใช้นุ่งห่ม จึงแสดงถึงความสันโดษมักน้อยของนักบวชผู้มุ่งแสวงหาทางหลุดพ้นและคำว่า "กฐิน"แปลว่า "สะดึง" หมายถึง ไม้ที่ใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง มีทั้งรูปสี่เหลี่ยม และรูปวงกลม เมื่อขึงผ้าด้วยสะดึงแล้วจะทำให้เย็บผ้าได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกความหมายหนึ่งนั้น หมายเอาผ้าจีวรที่ถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่ประจำอารามจนครบพรรษา
 
อานิสงฆ์ของการทอดกฐินที่ผู้ทอดจะได้รับมีมากมายมหาศาลเพราะเป็นบุญที่ทำได้ยากกว่าบุญอื่นๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดไว้หลายประการ ที่ผู้ทำการทอดกฐินจะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ดังนี้
1.) จำกัดด้วยเวลา คือต้องถวายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่ วันออกพรรษา
2.)จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอื่นไม่ได้
3.)จำกัดคราว คือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
4.)จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุรับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้นครบไตรมาส (3 เดือน) และจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป
5.)จำกัดงาน คือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้ว จะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น
6.)จำกัดของถวาย คือ ไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น โดยทั่วไปนิยมใช้สังฆาฏิ ไทยธรรมอื่นจัดเป็นบริวารกฐิน เกิดจากพุทธประสงค์ พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินเพื่อพลัดเปลี่ยนไตรจีวรเก่า แต่ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้อนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาต ถวายผ้าอาบน้ำฝน
เพราะมีขอบเขตที่จำกัดอย่างนี้จึงทำให้การทอดกฐินเป็นมหาทานที่ยิ่งใหญ่ที่ชาวพุทธทุกคนต่างก็พยายามทำบุญนี้กันให้ได้ โดยการไปเสาะแสวงหาวัดต่างๆที่มีพระครบ 5 รูป ขึ้นไป เพื่อจองเป็นเจ้าภาพในการทอดกฐิน ซึ่งทุกวันนี้หาวัดที่จะมีพระครบในการรับกฐินนั้นหาได้ยากมาก เพราะวัดส่วนใหญ่ทุกวันในแต่ละวัด มีพระอย่างมากก็ไม่เกิน 2-3  รูป ทำให้ไม่สามารถรับกฐินนั้นได้ นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมการทอดกฐินจึงจัดเป็นมหากาลทานที่ยิ่งใหญ่กว่าบุญอื่นๆ

ข้อมูลจาก:https://www.youtube.com/watch?v=QRL7R3froS8
https://goo.gl/X7M9WT

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น